ศูนย์เรียนรู้โครงการเพาะพันธุ์ปลาเทศบาลตำบลเกาะแก้ว

ศูนย์เรียนรู้โครงการเพาะพันธุ์ปลาตำบลเกาะแก้ว ได้ดำเนินการจัดตั้งเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2553 เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ สาธิต รวบรวมข้อมูล และเป็นศูนย์ประสานงาน ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชนในเขตตำบลเกาะแก้ว

วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2563

โครงการขยายพันธุ์ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติเทศบาลตำบลเกาะแก้ว ประจำปี 2555

โครงการขยายพันธุ์ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติเทศบาลตำบลเกาะแก้ว ประจำปี ๒๕๕๕


           เทศบาลตำบลเกาะแก้ว ได้ดำเนินการจัดทำโครงการขยายพันธุ์ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๔ รวมทั้งชุมชนได้ร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลาถวายเป็นพระราชสักการะ ตลอดจนเป็นการช่วยอนุรักษ์พันธุ์ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งเทศบาลตำบลเกาะแก้วร่วมกับศูนย์รียนรู้โครงการเพาะพันธุ์ปลาตำบลเกาะแก้วได้ดำเนินการเพาะพันธุ์ปลาตะเพียนขาว และปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติในเขตตำบลเกาะแก้ว จำนวน ๑๒๐,๐๐๐ ตัว ในการดำเนินโครงการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ และทศบาลตำบลเกาะแก้วร่วมกับศูนย์เรียนรู้โครงการเพาะพันธุ์ปลาตำบลเกาะแก้ว ได้ดำเนินการติดตามผลการดำเนินงาน ร่วมกันสำรวจพันธุ์ปลาที่ปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อตรวจสอบการเจริญเติบโตของพันธุ์ปลาหลังจากปล่อยพันธุ์ปลาแล้วประมาณ เดือน พบว่าพันธุ์ปลาที่ปล่อยลงในแหล่งน้ำมีการเจริญเติบโตประมาณ ๔๐๐ ๖๐๐ กรัมต่อตัว

      เทศบาลตำบลเกาะแก้ว ได้ดำเนินโครงการขยายพันธุ์ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ ประจำปี ๒๕๕๕ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ ตลอดจนประชาชนได้ร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลา ถวายเป็นพระราชสักการะสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และปล่อยลูกพันธุ์ปลาลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในเขตตำบลเกาะแก้ว เพื่อขยายพันธุ์ปลาให้เป็นแหล่งอาหารและโปรตีนสำหรับชุมชน รวมทั้งช่วยอนุรักษ์พันธ์ปลาให้คงอยู่ตลอดไป

วัตถุประสงค์

          เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ เพื่อให้ประชาชนช่วยกันอนุรักษ์พันธุ์ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อขยายพันธุ์ปลาปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อชุมชนได้ช่วยกันอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติในชุมชนตำบลเกาะแก้ว ตลอดจนเป็นแหล่งอาหารและโปรตีนสำหรับชุมชน

เป้าหมาย

              ปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติทั้ง ๑๔ หมู่บ้าน ในเขตตำบลเกาะแก้ว และขยายเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ปลาในเขตตำบลเกาะแก้ว เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และช่วยกันอนุรักษ์พันธุ์ปลาที่มีในแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนตลอดไป

ระยะเวลาในการดำเนินงาน  

                ระหว่างเดือน ธันวาคม ๒๕๕๔ - สิงหาคม ๒๕๕๕

งบประมาณดำเนินการ 

          ใช้งบประมาณเทศบาลตำบลเกาะแก้ว ด้านการเศรษฐกิจ แผนงานการเกษตร ประเภทรายจ่ายเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการที่ไม่เข้าลักษณะรายจ่ายหมวดอื่น โครงการขยายพันธุ์ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ ตั้งไว้ ๓๐,๐๐๐  บาท เพื่อใช้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายตามโครงการขยายพันธุ์ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ค่าจัดซื้อพันธุ์ปลาชนิดต่างๆ ค่าพาหนะและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นในการดำเนินการตามโครงการฯ

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

            ประชาชนได้ร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลา เพื่อถวายเป็นพระราชสักการะสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ มีแนวเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาในเขตตำบลเกาะแก้วเพิ่มมากขึ้น สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนได้ร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติให้แหล่งน้ำธรรมชาติและช่วยคืนพันธุ์ปลาที่หายากกลับคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ รวมทั้งศูนย์เรียนรู้โครงการเพาะพันธุ์ได้ดำเนินการขยายพันธุ์ปลาอย่างต่อเนื่องและยังยื่นตลอดไป

ารดำเนินงานตามโครงการฯ

  สำนักปลัดเทศบาลตำบลเกาะแก้ว งานพัฒนาชุมชน ได้จัดทำโครงการขยายพันธุ์ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ ประจำปี ๒๕๕๕ เสนอเพื่อขออนุมัติ และโครงการฯได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ซึ่งได้ขออนุมัติดำเนินงานตามโครงการเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ และได้ดำเนินงานตามแผนดำเนินงานโครงการขยายพันธุ์ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ

  เริ่มดำเนินงานเดือนธันวาคม ๒๕๕๔

          ๑. ได้ดำเนินการจัดซื้ออุปกรณ์ในการดำเนินงานฯ

          ๒. จัดทำบ่ออนุบาลลูกปลาเพิ่ม

          ๓. ซ่อมแซมบ่อผสมพันธุ์ปลาและบ่อฝักไข่ปลา

          ๔. ซ่อมแซมกรวยฝักไข่ปลา ซึ่งชำรุดเสียหายหลังใช้งานมาแล้ว ๒ ปี

          ๕. จัดทำกรวยฝักไข่ปลาเพิ่ม จากเดิมที่มีอยู่ ๖ กรวย ทำเพิ่มอีก ๔ กรวย รวมเป็น ๑๐ กรวย


วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563

กิจกรรมการจัดตั้งทำนบปลาประจำหมู่บ้านและเพิ่มผลผลิตประมงในแหล่งน้ำ ประจำปี 2555

กิจกรรมการจัดตั้งทำนบปลาประจำหมู่บ้านและเพิ่มผลผลิตประมงในแหล่งน้ำ

เทศบาลตำบลเกาะแก้ว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

หลักการและเหตุผล

          ตามที่ เทศบาลตำบลเกาะแก้ว ได้ดำเนินโครงการขยายพันธุ์ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 และดำเนินงานตามโครงการฯ อย่างต่อเนื่องและเป็นประจำทุกปี ซึ่งในการดำเนินโครงการฯ  เพื่อขยายพันธุ์ปลาปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติภายในเขตตำบลเกาะแก้ว  และเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม ตลอดจนประชาชนได้ร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลา ถวายเป็นพระราชสักการะสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และเป็นการขยายพันธุ์ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนตลอดไป

 

          ในปี พ.ศ. 2555 เทศบาลตำบลเกาะแก้วได้ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มส่งเสริมและอนุรักษ์พันธุ์ปลาตำบลเกาะแก้วขึ้น เพื่ออนุรักษ์ เฝ้าระวัง ป้องกัน รักษา และช่วยขยายเครือข่ายเฝ้าระวังรักษาพันธุ์สัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติตำบลเกาะแก้ว และเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2555

         และเทศบาลตำบลเกาะแก้ว ได้เห็นความสำคัญในการขยายพันธุ์ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ  จึงได้จัดทำกิจกรรมจัดตั้งทำนบปลาประจำหมู่บ้านและเพิ่มผลผลิตประมงในแหล่งน้ำขึ้น โดยเน้นหมู่บ้านที่มีแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดเล็กอยู่ใกล้หมู่บ้าน ชุมชนได้อาศัยแหล่งน้ำในการอุปโภคบริโภค มีการบริหารจัดการแหล่งน้ำโดยคณะกรรมการและราษฎรที่มาจากการคัดเลือก จัดกิจกรรมในแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง

        "ทำนบปลาประจำหมู่บ้าน" และ "เพิ่มผลผลิตประมงในแหล่งน้ำ" เป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นในการพัฒนาแหล่งน้ำให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาชุมชน ในชนบทโดย "กิจกรรมทำนบปลาประจำหมู่บ้าน" เป็นกิจกรรมที่มีการพัฒนามาจาก "โครงการพัฒนาทำนบปลาประจำหมู่บ้าน" ซึ่งเกิดจากความต้องการของราษฎรในการที่จะพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดเล็กในหมู่บ้านให้เป็นแหล่งน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค เป็นศูนย์กลางในการประกอบกิจกรรมด้านการเกษตร อาทิเช่น ประมง เลี้ยงสัตว์  และการเพาะปลูก ตลอดจนแหล่งอาหารโดยเฉพาะโปรตีนปลาสำหรับราษฎรในชนบท แนวทางการบริหารโครงการได้กำหนดให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการดูแล รักษาบริหารแหล่งน้ำ ตลอดจนการจัดสรรผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากแหล่งน้ำด้วย ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ราษฎรมีการรวมกลุ่มกันรับผิดชอบ มีความสามัคคีและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มพูนมีความรู้ความสามารถและก่อให้เกิดทักษะในด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้แก่ราษฎร เพื่อที่จะใช้ในการนำไปประกอบอาชีพเพิ่มรายได้ให้ตนเอง ตลอดจนเพื่อให้ราษฎรมีความตระหนักในความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรประมง

        "กิจกรรมเพิ่มผลผลิตประมงในแหล่งน้ำ" เพื่อช่วยปรับปรุงแหล่งน้ำให้อยู่ในสภาพดีและมีศักยภาพในการผลิตทางการประมง การบริหารและดูแลแหล่งน้ำจะดำเนินการภายใต้ความรับผิดชอบของคณะกรรมการประมงหมู่บ้าน ซึ่งมาจากการคัดเลือกร่วมกันของคณะกรรมการหมู่บ้านและราษฎรในหมู่บ้าน เทศบาลตำบลเกาะแก้วจะดำเนินการอบรมคณะกรรมการฯ  และราษฎรที่ได้รับการคัดเลือก ให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักการดำเนินงานของโครงการฯ ความรู้เรื่องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตลอดจนการบริหารดูแลและรักษาแหล่งน้ำโดยคณะกรรมการและราษฎรในหมู่บ้าน ต้องร่วมมือกันในการดำเนินการ อาทิเช่น การเตรียมแหล่งน้ำ ให้มีคุณภาพน้ำที่ดีและธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเลี้ยงปลา ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกชนิดพันธุ์ปลา ที่ปล่อยลงในแหล่งน้ำ ตลอดจนกำหนดขนาดและอัตราการปล่อย ลูกปลา ภายใต้คำแนะนำด้านวิชาการของเจ้าหน้าที่กรมประมง และเมื่อกำหนดชนิดปลา ขนาดและอัตราปล่อยที่เหมาะสมได้แล้ว จะดำเนินการประสานงานกับกรมประมงให้จัดสรรพันธุ์ปลา ตามที่กำหนดแล้วร่วมกันกำหนดกฎเกณฑ์ในการดำเนินการ ปล่อยพันธุ์ปลาลงแหล่งน้ำตามวันที่กำหนด แล้วดำเนินการ ดูแลรักษาแหล่งน้ำ อาทิเช่น การกำจัดวัชพืชและศัตรูปลา ใส่ปุ๋ยและอาหารเสริมพวกรำ ปลายข้าว และเศษผัก ตลอดจนการจัดตั้งเวรยามดูแล จนเมื่อปลาโตได้ขนาดที่เหมาะสม (ประมาณ 6-8 เดือน) คณะกรรมการ ฯ และราษฎรในหมู่บ้านจะร่วมกำหนดวิธีการที่จะ จับปลา ขึ้นมาโดยจะขึ้นกับความเหมาะสมและความต้องการของชุมชนเป็นสำคัญ อาทิเช่น การจับปลาแบบ ทยอยจับ

         โดยคณะ กรรมการฯ หรือ ราษฎรร่วมกันจับปลาขึ้นมาจำหน่ายให้กับราษฎรภายในหมู่บ้านในราคาถูก โดยจะดำเนินการจับเป็นระยะตลอดปี หรือ การเปิดขายบัตรจับปลา คณะกรรมการฯ และราษฎรในหมู่บ้านจะร่วมกันกำหนดกฎระเบียบในการที่จะจับปลาในแหล่งน้ำ โดยอาจกำหนดให้ผู้ที่จะจับปลาต้องทำการซื้อบัตรเพื่อจับปลาในแหล่งน้ำ โดยจำแนกราคาตามขนาดและชนิดเครื่องมือที่ใช้หรือในกรณีที่แหล่งน้ำมีขนาด ใหญ่หรือราษฎรมีความจำเป็นที่ต้องจับปลาเพื่อหารายได้หรือยังชีพ อาจมีการเปิดให้จับปลา โดยมีการแบ่งเขตแหล่งน้ำ ให้จับปลาได้บางบริเวณ โดยกำหนดชนิด ขนาดเครื่องมือที่อนุญาตให้จับได้ เนื่องจาก"ประมงหมู่บ้าน"นั้นมีเป้าหมายในการดำเนินงานโดยให้ ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมและช่วยเหลือตัวเองได้ในที่สุด โดยรัฐจะสนับสนุนในช่วงแรกๆ เท่านั้น รายได้ที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ คณะกรรมการและราษฎรในหมู่บ้านจะต้องร่วมกันดำเนินการจัดสรรเพื่อใช้ในการ บริหารและดูแล  แหล่งน้ำ อาทิเช่น การจัดหาพันธุ์ปลามาปล่อย, การปรับปรุงแหล่งน้ำและสามารถนำไปใช้ในกิจกรรมที่เป็นภาพรวมของหมู่บ้าน กิจกรรมทั้งสองนี้ กรมประมงมีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาให้ชุมชนและองค์กรราษฎรในชุมชนมีความ สามารถที่จะพัฒนาและช่วยเหลือตนเองได้ในระดับหนึ่ง อันจะเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และมีความสามารถที่จะประยุกต์เทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เข้าใช้ในการพัฒนาชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วัตถุประสงค์

  1.  พัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดเล็กในหมู่บ้านให้เป็นแหล่งน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค

  2. ช่วยเพิ่มแหล่งโปรตีนให้กับชุมชน

  3. ช่วยปรับปรุงแหล่งน้ำให้อยู่ในสภาพดี

  4. ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

  5. การบริหารดูแลและรักษาแหล่งน้ำโดยคณะกรรมการและราษฎรในหมู่บ้าน

  6. เป็นแหล่งน้ำต้นแบบในการจัดกิจกรรมฯ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินกิจกรรมฯ ต่อไป

เป้าหมาย

  หนองสิม บ้านโคกกลาง หมู่ 9 ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เนื้อที่ 23 ไร่

วิธีดำเนินกิจกรรม

  1. จัดตั้งคณะกรรมการจัดการแหล่งน้ำประจำหมู่บ้าน

    คณะกรรมการจัดการแหล่งน้ำประจำหมู่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้านและราษฎร ได้ร่วมกันคัดเลือกคณะกรรมการจัดการแหล่งน้ำประจำหมู่บ้าน ประกอบด้วยราษฎรในหมู่บ้าน จำนวน 10 – 15  คน เสนอต่อนายกเทศมนตรีเพื่อแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ดังต่อไปนี้

                        ประธาน              1           คน

                        รองประธาน          1           คน

                        เหรัญญิก             2          คน

                        กรรมการ            5 – 10    คน

                        เลขานุการ          1  คน

  ให้คณะกรรมการฯ มีหน้าที่และความรับผิดชอบ

             1.1  ร่วม วางแผนและปฏิบัติงานกับคณะทำงาน ประสานงานกับราษฎรในหมู่บ้านในการกำหนดกฎเกณฑ์และระเบียบการบริหารแหล่งน้ำ เพื่อบำรุงรักษาและบริหารแหล่งน้ำให้สามารถเพิ่มผลผลิตได้สูงสุด

            1.2 กระตุ้นให้เกิดการรวมตัวของราษฎร เพื่อร่วมกันพัฒนาและใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำให้เกิดประโยชน์อย่างต่อเนื่อง

            1.3  บริหารรายได้หรือผลประโยชน์ที่เกิดจากแหล่งน้ำตามกิจกรรมต่างๆ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาแหล่งน้ำ และหมู่บ้าน

  คณะกรรมการฯ พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุผล ดังนี้

                    -  ตาย

                    -  ลาออก

                  -  คณะกรรมการฯ มีมติให้พ้นจากตำแหน่ง โดยมีมติดังกล่าวต้องมีคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของคณะกรรมการฯ ทั้งหมด

                      -  นายกเทศมนตรีสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง

                      -  คณะกรรมการฯ อยู่ในตำแหน่งครบวาระ 4 ปี

            การเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการฯ

            เมื่อคณะกรรมการฯ พ้นจากตำแหน่ง ให้ราษฎรในหมู่บ้านเลือกตั้งผู้ที่จะดำรงตำแหน่งแทน แล้วเสนอนายกเทศมนตรีแต่งตั้งต่อไป

2. การอบรม

    ดำเนินการจัดอบรมราษฎรบริเวณรอบแหล่งน้ำ ให้เข้าใจหลักการดำเนินงานของกิจกรรม ให้มีความรู้ด้านการเลี้ยงสัตว์น้ำ ตลอดจนการดูแลรักษาและบริหารแหล่งน้ำเป็นเวลา 1 วัน ณ พื้นที่ดำเนินการ

3. การดำเนินงานในแหล่งน้ำ

            คณะกรรมการฯ ราษฎรและคณะทำงานร่วมกันดำเนินงาน ดังนี้

                - การเตรียมพันธุ์ปลา

            คณะกรรมการฯ และราษฎร ร่วมกันกำหนดแผนการปล่อยพันธุ์ปลาในแหล่งน้ำ เพื่อกำหนด ชนิด ขนาด และอัตราการปล่อยปลาเป็นการกำหนดตามหลักวิชาการของโครงการฯ โดยเน้นปลากินพืช เช่น ปลานิล ปลาตะเพียน ปลายีสกเทศ เป็นต้น ขนาด 3–5 เซนติเมตร โดยมีอัตราการปล่อยประมาณ 5,000 ตัว/ไร่

             หากคณะกรรมการฯ มีความประสงค์พันธุ์ปลาชนิดอื่น ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสม โดยขอคำแนะนำทางวิชาการจากนักวิชาการประมงของสถานีประมง/ศูนย์เรียนรู้โครงการเพาะพันธุ์ปลาตำบลเกาะแก้ว แล้วดำเนินการจัดหาพันธุ์ปลาเพื่อปล่อยตามแผนฯ ต่อไป

4. การปล่อยพันธุ์ปลา

            ให้คณะกรรมการฯ และราษฎร ร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลา เพื่อจะได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแผนการปล่อยพันธุ์ปลา

5. การเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ

            ให้คณะกรรมการฯ และราษฎร ร่วมกันตั้งเวรยามและผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน ดูแลรักษาแหล่งน้ำ กำจัดวัชพืช กำจัดศัตรูพืช ให้อาหารสมทบ เช่น รำ ปลายข้าว เศษผัก เป็นต้น

  6. การจับปลา

            หลังจากปล่อยปลาไปแล้ว ประมาณ 6 – 8 เดือน ปลาจะโตได้ขนาดที่จะบริโภคได้ คณะกรรมการฯ และราษฎรร่วมปรึกษา และกำหนดวิธีการจับปลา ตามความเหมาะสมของแหล่งน้ำ เช่น

  กรณีที่ 1 จับปีละครั้ง

          แหล่งน้ำที่มีน้ำน้อยในฤดูแล้งและขนาดแหล่งน้ำไม่ใหญ่มาก หรือในหมู่บ้านมีแหล่งน้ำอื่นๆ ซึ่งราษฎรสามารถหาปลาบริโภคได้ อาจใช้วิธีห้ามจับปลาในแหล่งน้ำของกิจกรรมตลอดปี จนกระทั้งปลาโตได้ขนาด คณะกรรมการฯ จะร่วมประชุมให้เปิดจับปลา และกำหนดวิธีการขายแบบขายบัตรจับปลา

  กรณีที่ 2 แบบทยอยจับ

        แหล่งน้ำที่มีน้ำตลอดทั้งปี มีการดูแล และให้อาหารสมทบสม่ำเสมอ คณะกรรมการฯ และราษฎรควรร่วมทยอยจับปลาซึ่งโตได้ขนาดด้วย อวน แห ข่าย พร้อมทั้งปล่อยทดแทนเป็นระยะตามสัดส่วนปลาที่จับขึ้นมา

  กรณีที่ 3 แบบผสมผสาน

       ในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ถ้าราษฎรมีความจำเป็นต้องจับปลาเพื่อการยังชีพและหารายได้ให้แก่หมู่บ้าน อาจดำเนินการแบ่งเขตแหล่งน้ำให้จับปลาได้บางบริเวณแต่ต้องกำหนดชนิดเครื่องมือ เช่น เบ็ด สวิง สะดุ้ง และแห อวน ข่าย กำหนดความถี่ไม่น้อยกว่า 5 เซนติเมตร เป็นต้น และเมื่อถึงฤดูแล้งจึงเปิดจับปลาทั้งแหล่งน้ำโดยการขายบัตรจับปลา

7. กิจกรรมต่อเนื่อง

        เพื่อใช้แหล่งน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน คณะทำงานต้องกระตุ้นให้คณะกรรมการฯ และราษฎรเห็นความสำคัญในการใช้แหล่งน้ำเป็นจุดเริ่มต้น หรือศูนย์รวมของการพัฒนาการเกษตรแบบผสมผสาน โดยมุ่งเน้นทั้งด้านการเกษตรและปศุสัตว์ เพื่อให้เป็นแหล่งผลิตอาหารประจำหมู่บ้าน โดยสอดคล้องกับสภาพพื้นที่และวัฒนธรรมของหมู่บ้าน

8. การบันทึกข้อมูล

          ให้คณะกรรมการฯ บันทึกข้อมูลการดำเนินงาน ผลการปล่อยปลา จับปลา การจัดสรรรายได้ ปัญหาการดำเนินงานในสมุดทะเบียนประวัติแหล่งน้ำประจำหมู่บ้าน เพื่อให้ทราบถึงสถานภาพของแหล่งน้ำ และร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที

9. การปะเมินผลการดำเนินงาน

          เมื่อสิ้นปีงบประมาณจะมีการจัดประชุมเพื่อประเมินผลการดำเนินงาน โดยคณะกรรมการหรือราษฎรบริเวณแหล่งน้ำ เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลเกาะแก้ว เพื่อสรุปผลการดำเนินงานว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ หากมีปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ จะได้ร่วมกันตกลงแก้ไขปัญหาและหาแนวทางปรับปรุงการดำเนินงานต่อไป

ระยะเวลาในการดำเนินงาน

          ระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 –  มีนาคม พ.ศ. 2556

ผู้รับผิดชอบดำเนินกิจกรรรม/โครงการ

          สำนักปลัดเทศบาลตำบลเกาะแก้ว/กลุ่มส่งเสริมและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำตำบลเกาะแก้ว/คณะกรรมการบริหารจัดการแหล่งน้ำและราษฎรกลุ่มเป้าหมาย

งบประมาณ/แหล่งที่มา

          งบประมาณสำนักงานเทศบาลตำบลเกาะแก้ว/กองทุนหมู่บ้านหมู่ 9 บ้านโคกกลาง ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

          1. ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างคุ้มค่า

          2. เป็นแหล่งอาหารและโปรตีนสำหรับชุมชน

          3. แหล่งน้ำกลับสู่สภาพดีเหมาะสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค

          4. ชุมชนมีความรู้ความเข้าใจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

          5. สร้างความสามัคคีและการมีส่วนร่วมให้กับชุมชน

          6. ใช้หมู่บ้านตัวอย่างในการบริหารจัดการแหล่งน้ำธรรมชาติประจำตำบลเกาะแก้ว